ในประเทศที่มีผู้สูงอายุราว 20 ล้านคนซึ่งไม่ชำนาญในการใช้สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ดิจิทัลอื่นๆ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนประชาชนด้วยการประสานงานกับบริษัทโทรศัพท์มือถือในการจัดชั้นเรียน อย่างไรก็ตาม การริเริ่มดังกล่าวจะดึงดูดเฉพาะผู้คนที่ต้องการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลใหม่ๆ เท่านั้น จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการใช้สมาร์ทโฟนที่ดำเนินการโดยรัฐบาลญี่ปุ่นในปี 2020 พบว่าผู้คนในช่วงอายุ 18-59 ปี เกือบ 10% ตอบว่า "แทบไม่ได้ใช้" หรือ "ไม่ได้ใช้" อุปกรณ์ดังกล่าว ขณะเดียวกัน เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่บอกว่าตน “แทบไม่ได้ใช้” สมาร์ทโฟนในกลุ่มอายุ 60-69 ปี และกลุ่มอายุมากกว่า 70 ปี อยู่ที่ 25.7% และ 57.9% ตามลำดับ

ชั้นเรียนสอนผู้สูงอายุใช้สมาร์ทโฟน จัดโดย NTT Docomo ภาพ: ข่าวเคียวโด

ในการสอนใช้สมาร์ทโฟนซึ่งจัดขึ้นโดยบริษัทโทรคมนาคม NTT Docomo ณ ร้านค้าแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียวเมื่อเดือนเมษายนของปีนี้ ผู้สอนได้แสดงภาพสุนัขสีขาวตัวใหญ่ให้ผู้สูงอายุสองคนดู และอธิบายวิธีใช้แอปค้นหาภาพผ่านฟังก์ชันกล้องถ่ายรูป เชิญชวนผู้เข้าร่วมถ่ายภาพและใช้แอปเพื่อระบุสายพันธุ์ของสุนัข “การใช้สมาร์ทโฟนในปัจจุบันไม่สะดวกนัก ฉันอยากพัฒนาทักษะของตัวเอง” ผู้เข้าร่วมชั้นเรียนคนหนึ่งกล่าว

ตั้งแต่การก่อตั้งในปี 2018 ชั้นเรียนสมาร์ทโฟนของ NTT Docomo ดึงดูดผู้เข้าร่วมได้มากกว่า 15 ล้านคน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของ NTT Docomo ยอมรับว่าพวกเขาพบความยากลำบากในการส่งเสริมผู้ที่สนใจน้อยกว่าในการปรับปรุงทักษะดิจิทัลให้เข้าชั้นเรียน คนรุ่นใหม่ถือว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเรื่องธรรมดา และขาดการตระหนักถึงความแตกต่างที่มีอยู่ เท็ตสึยะ โตโยดะ นักวิจัยจาก Oricom Digital Divide Solutions องค์กรเอกชนที่กำลังทำงานเพื่อลดช่องว่างทางดิจิทัล กล่าว “รัฐบาล บริษัทต่างๆ และเหนือสิ่งอื่นใด ประชาชนทุกคน จำเป็นต้องตระหนักถึงปัญหาและพยายามแก้ไข” นายโตโยดะเน้นย้ำ

ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2021 เป็นต้นไป กระทรวงกิจการภายใน และการสื่อสารของญี่ปุ่น ตั้งเป้าที่จะฝึกอบรมประชากร 10 ล้านคนให้มีความสามารถในการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลผ่านหลักสูตรต่างๆ ภายใน 5 ปี ในปี 2021 มีผู้เข้าร่วม 250,000 ราย ตัวเลขนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็นสองเท่าภายในปี 2022 แต่ก็ยังห่างไกลจากเป้าหมายอยู่มาก

ดวงเหงียน